กิจกรรมอบรมการเ…
ม.ราชภัฏสุราษฎร์ฯ สอนทำสเปรย์กันยุงสร้างอาชีพ-ป้องกันไข้เลือดออก-ลดใช้สารเคมี
ศูนย์บ่มเพาะธุรกิจ ม.ราชภัฏสุราษฎร์ธานี สอนชาวบ้านทำสเปรย์กันยุง มุ่งสร้างอาชีพ เพิ่มรายได้ในครัวเรือน พร้อมป้องกันไข้เลือดออกและลดการใช้สารเคมี ผู้จัดการเผย สอนครบวงจร ทั้งผลิต กลยุทธ์การขาย การตลาด การบริหารการเงิน พร้อมรับเป็นพี่เลี้ยงให้ตลอดกระบวนการ
ดร.วัฒนา รัตนพรหม รองอธิการบดีฝ่ายวางแผนยุทธศาสตร์และวิเทศสัมพันธ์ มหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี (มรส.) เปิดเผยว่า ตามที่ มรส.ได้จัดตั้งศูนย์บ่มเพาะธุรกิจขึ้นเพื่อพัฒนาและสร้างผู้ประกอบการรุ่นใหม่โดยใช้ความรู้ในสถาบันอุดมศึกษาเป็นฐาน และได้ผลิตผู้ประกอบการในสาขาต่าง ๆ อย่างต่อเนื่องนั้น ล่าสุดได้สร้างผู้ประกอบการใหม่อีก 40 รายในธุรกิจการทำสเปรย์สมุนไพรไทยป้องกันยุง ซึ่งนอกจากผู้เข้าร่วมอบรมจะสามารถใช้สร้างอาชีพให้กับครอบครัวได้แล้ว ยังสามารถใช้ในครัวเรือนได้เอง และช่วยส่งเสริมสุขภาวะในเรื่องของการป้องกันไข้เลือดออกได้อีกทางหนึ่งด้วย
“ขณะนี้เป็นช่วงปลายฝนต้นหนาว แทบทุกพื้นที่ในภาคใต้เต็มไปด้วยยุง หลายครัวเรือนเลือกใช้ยากันยุงที่มีส่วนผสมของสารไพรีทรอยด์ ซึ่งจะปล่อยสารเคมีออกมาเป็นควันและมีคุณสมบัติทำให้การทำงานของระบบประสาทของยุงและแมลงต่าง ๆ เป็นอัมพาตอย่างรวดเร็ว จึงแน่นอนว่าย่อมมีผลกระทบต่อระบบประสาทของมนุษย์ด้วย การทำสเปรย์จากสมุนไพรธรรมชาติจึงเป็นอีกทางเลือกหนึ่งในการป้องกันทั้งไข้เลือดออกและป้องกันอันตรายจากสารพิษที่เข้าสู่ร่างกาย” รองอธิการบดีกล่าว
นางฐิติมา บุญยัง ผู้จัดการศูนย์บ่มเพาะธุรกิจ มรส. กล่าวเพิ่มเติมว่า การอบรมมีทั้งหมด 3 วัน ไม่เพียงให้ความรู้ในเรื่องของการผลิต แต่ยังครอบคลุมไปถึงกลยุทธ์การขายและการตลาด การบริหารการเงินและสภาพคล่องของธุรกิจ การจัดการพื้นที่และการสร้างแรงบันดาลใจอีกด้วย เมื่อจบการอบรมแล้วสามารถเข้าสู่ธุรกิจได้เลยโดยมหาวิทยาลัยยินดีจะเป็นพี่เลี้ยงให้ ในส่วนของผู้ที่เข้ารับการอบรมมีทั้งนักศึกษา อาจารย์ ชาวบ้านในท้องถิ่นและบุคคลผู้สนใจจากภายนอกรวม 40 คน
“สเปรย์สมุนไพรกันยุงมีกระบวนการผลิตที่ง่ายและต้นทุนต่ำ เนื่องจากวัตถุดิบส่วนผสมมีวางจำหน่ายทั่วไปตามท้องตลาดในราคาที่ไม่แพง เช่น การบูร เมนทอล พิมเสน น้ำมันยูคาลิปตัส เพียงเข้าใจเทคนิคการผลิตก็สามารถทำได้ด้วยตนเอง เมื่อเปรียบเทียบกับการซื้อยากันยุงมาใช้พบว่าประหยัดกว่าและปลอดภัยมากกว่า ผู้ประกอบการจึงสามารถจำหน่ายได้ในราคาย่อมเยาและสามารถชูเรื่องความปลอดภัยต่อเด็กและผู้ใช้เป็นจุดแข็งของผลิตภัณฑ์ได้” ผู้จัดการศูนย์บ่มเพาะกล่าว
นายสมยศ นุ่นจำนงค์ เกษตรกรเจ้าของสวนถั่วดาวอินคา หนึ่งในผู้เข้าอบรมกล่าวว่า ตนเข้ารับการอบรมเพราะกำลังมองหาลู่ทางทำธุรกิจเสริม และมองว่าเป็นธุรกิจที่สามารถต่อยอดได้ง่าย เนื่องจากกระบวนการผลิตไม่ยุ่งยาก ใช้เวลาว่างทำได้ คนในครอบครัวช่วยกันได้ และหากไม่พร้อมจัดจำหน่ายก็สามารถนำมาใช้เองในครัวเรือนได้ เป็นการลดค่าใช้จ่ายได้อีกทางหนึ่ง
วันวนัทธ์ วรภู รายงาน
Somyos Nunjamnong ภาพ